วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2559

ในแผ่นดินจีนช่วงเกิดการปฏิวัติเพื่อโค้นล้มการปกครองแบบศักดินา (ค.ศ. ๑๙๑๑) เมื่อราชสำนักทราบข่าวการก่อปฏิวัติ ก็รีบประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องแล้วให้เรียกตัวนายทหารชื่อ หยวนซื่อไข่ กลับมารับราชการอีก หลังจากถูกปลดออกจากตำแหน่งเพราะคิดหักหลังราชสำนักเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๐๘

          
                                         หยวนซื่อไข่
ระหว่างที่หยวนซื่อไข่ถูกสั่งพักงานอยู่นั้น เขาได้เฝ้าสังเกตการณ์ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในอาณาจักรมาโดยตลอด และมองอย่างเข้าใจในสถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างดี นอกจากนี้เขายังรู้ด้วยว่าตนเองควรยืนอยู่จุดไหน เมื่อมีคำสั่งให้ตนกลับไปรับตำแหน่งแม่ทัพปราบกบฏ เขาจึงวางเงื่อนไขกับราชสำนักในฐานะผู้ถือไพ่เหนือกว่าไว้ ๖ ข้อ ได้แก่
๑) ให้ราชสำนักตั้งสภาผู้แทนราษฎรแห่งชาติขึ้นภายในหนึ่งปี
๒) จัดตั้งเสนาบดีคนใหม่มารับผิดชอบ
๓) อภัยโทษนักปฏิวัติทั้งหมด
๔) ยกเลิกคำสั่งที่ราชสำนักเคยออกมาบังคับพรรคการเมือง
๕) ให้ตนมีอำนาจโดยสมบูรณ์ในการบังคับบัญชากองทัพบกและกองทัพเรือ
๖) ต้องรับรองว่าราชสำนักมีงบประมาณให้อย่างเพียงพอตลอดการปฏิบัติงาน
เงื่อนไขที่หยวนซื่อไข่ตั้งเอาไว้นี้ แสดงถึงความเข้าใจในสถานการณ์ขณะนั้นเป็นอย่างดีหยวนเอาใจทั้งฝ่ายประชาชนที่กำลังเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  เอาใจทั้งฝ่ายนักปฏิวัติและที่สำคัญตนเองต้องมีทหารอยู่ในการปกครองด้วย
ราชสำนักไม่มีทางเลือกอื่น ในเมื่อทหารที่มีประสิทธิภาพที่สุดเป็นคนของหยวน การที่หยวนไม่ชิงบัลลังก์เสียเองก็เป็นการดีมากแล้ว จึงยอมรับในเงื่อนไขทั้งหมดแล้วให้สิทธิ์ขาดทุกอย่างในการปราบผู้ก่อการปฏิวัติ
วันที่ ๒๙ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๑ ซุนยัตเซ็นได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐจีน ด้วยเสียงสนับสนุนจากผู้แทนทั้ง ๑๗ มณฑล(อ่านเพิ่มได้ที่เรื่องการปฏิวัติ ๑๙๑๑)
ระหว่างที่คณะปฏิบัติงานของพรรคถงเหมินฮุ่ยที่นำโดยประธานาธิบดีซุนยัตเซ็น วางแผนที่จะยกทัพขึ้นเหนือเพื่อยึดอำนาจเมืองหลวง หยวนซื่อไขได้ส่งคนมาเจรจาต่อรองกับคณะรัฐบาลใหม่ที่หนานจิง

หยวนซื่อไขทราบดีว่าการยกทัพจากทางใต้ขึ้นเหนือไม่ใช่เรื่องง่าย ในทางกลับกันการยกทัพจากทางเหนือเพื่อไปปราบกลุ่มผู้การปฏิวัติทางใต้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นเดียวกัน จึงพยายามยื่นข้อเสนอให้ซุนยัตเซ็นมอบตำแหน่งประธานาธิบดีให้ตน แล้วตนจะทำให้ราชวงศ์ชิงสละราชสมบัติโดยไม่ต้องหลั่งเลือด

ซุนยัตเซ็นแม้ไม่เห็นด้วยที่จะให้คนที่ไม่เคยซื่อตรงต่อใครอย่างหยวนซื่อไขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี  แต่ด้วยเงื่อนไขที่ว่าไม่ต้องหลั่งเลือด และด้วยความเคารพในเสียงของคนส่วนใหญ่(ตามหลักประชาธิปไตย) ตนก็พร้อมจะลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีทันที

วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๒ เมื่อซุนยัตเซ็นได้ทราบข่าวการสละราชสมบัติของจักรพรรดิผู่อี้ จากสื่อต่าง ๆ จึงได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีตามที่ได้ตกลง โดยมีเงื่อนไขในใบลาออกระบุไว้ ๓ ข้อ ว่า
๑) ที่ตั้งของรัฐบาลชุดใหม่จะต้องอยู่หนางจิงเท่านั้น
๒) ประธานาธิบดีคนใหม่ที่ได้รับเลือกต้องมารับตำแหน่งที่หนางจิง
๓) รัฐธรรมนูญของรัฐบาลใหม่ที่ออกโดยสภาผู้แทนราษฎร ประธานาธิบดีจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

                                      จักรพรรดิองค์สุดท้าย

หยวนไม่เคยคิดที่จะทิ้งฐานอำนาจของตนในปักกิ่งอยู่แล้ว เมื่อเงื่อนไขในการลาออกเป็นอย่างนี้ ตนจึงต้องหาอุบายเพื่อให้ได้ครองอำนาจในปักกิ่ง
หยวนให้ทหารแต่งกายเป็นชาวบ้านแล้วสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในเขตชุมชมเมืองทั้งที่ปักกิ่ง ที่เทียนจินและที่เปาติ้งเพื่อใช้เป็นข้ออ้างว่าสถานการณ์ไม่สงบเช่นนี้ ต้องรีบแต่งตั้งประธานาธิบดีขึ้นมาแก้ไขปัญหาโดยด่วน
บรรดาคณะผู้นำกลุ่มปฏิวัติจำเป็นต้องยอมให้หยวนเข้ารับตำแหน่งที่ปักกิ่ง ในวันที่ ๑๐ มีนาคม โดยมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ๕๖ มาตรา มีผลบังคับใช้ สหรัฐอเมริกาเป็นชาติแรกที่รับรองความเป็นรัฐบาลของสาธารณรัฐจีน
เป็นที่น่าสังเกตว่า บรรดานักปฏิวัติกลับให้ความสำคัญกับหยวนซื่อไข ทั้งที่รู้พฤติกรรมอยู่แล้วว่าเคยหักหลังจักรพรรดิเต๋อจงเมื่อครั้งพระองค์ประกาศปฏิรูปประเทศ นอกจากนี้ตลอดชีวิตของหยวนเคยชินแต่กับรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการ การที่จะคุยเรื่องหลักประชาธิปไตยกับหยวนคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก

อย่างไรก็ตาม หลังจากหยวนซื่อไขได้เป็นประธานาธิบดี รัฐบาลคณะใหม่ได้วางโครงสร้างการปกครองไว้ ดังนี้

หยวนแต่งตั้งให้นายทหารคนสนิทเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ๕ คน ตำแหน่งรองลงมาเป็นของสมาชิกกลุ่มปฏิวัติ ๔ คน ซุนยัตเซ็นได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างทางรถไฟสายเหนือ หวงซิง อดีตแม่ทัพของกลุ่มปฏิวัติได้เป็นผู้อำนวยการสร้างทางรถไฟสายใต้
ตามบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ระบุเอาไว้ว่าต้องจัดให้มีการเลือกตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นภายใน ๖ เดือน หลังจากจัดตั้งรัฐบาลเสร็จ ผู้ที่มีสิทธิ์ออกเสียงต้องมีอายุ ๒๑ ปีขึ้นไป จบการศึกษาชั้นประถม ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ออกเสียง
เมื่อรัฐสภาจัดให้มีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่เข้าสมัครรับเลือกตั้งมีทั้งหมด ๔ พรรค กลุ่มนักปฏิวัติใช้ชื่อพรรคใหม่ว่ากั๋วหมินตั่ง ภายใต้การนำของซ่งเจี้ยวเหริน (อดีตผู้นำคนที่สามของกลุ่มปฏิวัติ) มีนโยบายสำคัญคือ รัฐสภาสามารถตรวจสอบและยับยั้งการใช้อำนาจของประธานาธิบดีได้
เมื่อผลของการเลือกตั้งครั้งแรกในประศาสตร์ของสาธารณรัฐจีนออกมา พรรคกั๋วหมินตั่งได้คะแนนเสียงข้างมาก เมื่อจัดตั้งคณะรัฐบาลเสร็จ ตามรัฐธรรมนูญสามารถผลักดันให้มีการเลือกประธานาธิบดีตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตยได้
เมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏผลเป็นอย่างนี้ หยวนจำเป็นต้องดำเนินการตามวิธีที่ตนถนัดที่สุดคือ การซื้อคนมาเป็นพวกถ้าซื้อไม่ได้ก็สังหารทิ้ง ปรากฏว่าหยวนซื้อสมาชิกพรรคกั๋วหมินตั่งได้หลายคนยกเว้นหัวหน้าพรรค ยังผลให้ก่อนที่จะมีการประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีชุดใหม่ ซ่งเจี้ยวเหริน               ได้กลายเป็นศพไปเรียบร้อยแล้ว
การตายของซ่งเจี้ยวเหริน สร้างความโกรธแค้นให้แก่บรรดานักปฏิวัติและสมาชิกพรรคกั๋วหมินตั่งเป็นอย่างมาก หยวนคาดการณ์ล่วงหน้าเอาไว้แล้วว่าต้องเกิดสงครามกลางเมืองอย่างแน่นอน จึงหาทุนเอาไว้ใช้ยามสงครามด้วยการขอกู้เงินจากสหธนาคารของชาวต่างชาติ ๒๕ ล้านปอนด์ เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายของกองทัพ โดยเอาภาษีเกลือของรัฐบาลจีนเป็นสิ่งค้ำประกัน
การกู้เงินจำนวนมากมายของหยวนไม่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ทำให้เกิดกระแสการคัดค้านอย่างหนัก หยวนเองไม่ต้องการรับฟังเสียงคัดค้านจึงสั่งปลดทุกคนที่ไม่เห็นด้วยกับตน สุดท้ายผู้ว่าการมณฑลต่าง ๆ ประกาศตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อรัฐบาลของหยวนอีกต่อไป
สงครามกลางเมืองได้อุบัติขึ้น เมื่อหยวนส่งกองทัพเป่ยหยางเข้าปราบกลุ่มนักปฏิวัติและผู้ว่าการมณฑลต่าง ๆ ที่ประกาศตนเป็นอิสระ ด้วยการปฏิบัติการอย่างเฉียบขาดของกองทัพเป่ยหยาง ภายในสองเดือนกลุ่มผู้ต่อต้านต้องประกาศยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข
หลังจากนั้นหยวนได้แต่งตั้งให้แม่ทัพที่มีความดีความชอบเข้าไปปกครองแทนผู้ว่าการคนเดิม การเข้ามาครองอำนาจในมณฑลต่าง ๆ ของเหล่าแม่ทัพนายกองทั้งหลายเหล่านี้ ทำให้การบ้านเมืองในอุดมคติของซุนยัตเซ็นต้องแตกสลาย ระบอบประชาธิปไตยที่คิดว่าจะช่วยพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นกลับเป็นเครื่องมือให้เหล่าผู้มีอำนาจใช่เอาเปรียบประชาชน


วันที่ ๑๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๓ มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีซึ่งแน่นอนว่าหยวนต้องได้รับตำแหน่งนี้ เมื่อได้ดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการหยวนประกาศยุบตำแหน่งสภาผู้แทนราษฎรและตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา พร้อมกับประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา
ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่ง ๑๐ ปี มีอำนาจบริหารประเทศทั้งหมด มีอำนาจประกาศสงคราม มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนข้าราชการทุกระดับชั้น มีอำนาจออกกฎหมาย มีอำนาจยกเลิกกฎหมาย ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม อำนาจที่หยวนมีในตอนนี้ถือได้ว่าเทียบเท่ากับองค์จักรพรรดิ ต่างกันตรงที่ชื่อที่ใช้เรียกเท่านั้นเอง จุดนี้เองทำให้หยวนเกิดความคิดที่จะกลับไปใช่ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ระหว่างที่หยวนพยายามที่จะก้าวขึ้นมาเป็นจักรพรรดิ สงครามโลกครั้งที่ ๑ ก็อุบัติขึ้น (ค.ศ. ๑๙๑๔) ญี่ปุ่นเห็นว่าเป็นจังหวะอันดี ที่จะเข้ามารุกรานอาณาจักรจีนจึงเลือกอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร โจมตีเขตสัมปทานของเยอรมันที่อยู่ในแผ่นดินจีน
กองทัพญี่ปุ่นสามารถยึดเขตสัมปทานของเยอรมันในซานตงได้ แล้วใช้ที่แห่งนี้เป็นฐานที่มั่นสำหรับขยายอำนาจของตนในแผ่นดินจีนต่อไป  รัฐบาลจีนไม่ต้องการปะทะกับญี่ปุ่นโดยตรงเพราะอาวุธยุทโธปกรณ์ด้อยกว่าจึงเสนอให้มีการเจรจา
วันที่ ๑๘ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ มีการเจรจาระหว่างทูตญี่ปุ่นกับหยวนซื่อไข่อย่างลับ ๆ ทูตญี่ปุ่นได้ยื่นข้อเสนอว่าจะสนับสนุนหยวนให้ได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิ แต่รัฐบาลจีนต้องยินยอมตามเงื่อนไขทั้ง ๒๑ ประการ ที่รัฐบาลญี่ปุ่นเรียกร้อง ซึ่งเงื่อนไข ๒๑ ประการ ที่ญี่ปุ่นเรียกร้องมีสาระสำคัญ ดังนี้
- จีนต้องยินยอมให้ญี่ปุ่นมีอำนาจในซานตง
- ญี่ปุ่นต้องได้สิทธิ์ทุกอย่างของเยอรมันและของรัสเซียที่เคยได้จากจีน
- จีนต้องเปิดแมนจูเรียและมองโกลเลียในให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุน
- ญี่ปุ่นต้องได้สิทธิ์ในการทำเหมืองแร่และทางรถไฟ
- โรงงานเหล็กกล้าที่ฮั่นเยี่ยผิงจะต้องเป็นกรรมาสิทธิ์ร่วมระหว่างจีนกับญี่ปุ่น
- จีนต้องไม่ยินยอมให้ หรือให้เช่าท่าเรือ อ่าวหรือเกาะไม่ว่าจะเป็นแห่งหนึ่งแห่งใดแก่ชาติอื่นยกเว้นญี่ปุ่น
- จีนต้องว่าจ้างชาวญี่ปุ่นเป็นที่ปรึกษาทางการเมือง การคลังและการทหาร
- กิจการตำรวจในบริเวณพื้นที่สำคัญ ๆ ต้องเป็นบริการร่วมกันระหว่างชาวจีนกับชาวญี่ปุ่น
ฯลฯ
หยวนติดสินใจเพียงบุคคลเดียวยอมรับเงื่อนไขทั้ง ๒๑ ข้อที่ทูตญี่ปุ่นเสนอ เมื่อประชาชนทราบเรื่องก็พากันโกรธแค้นรัฐบาลจีน และโกรธแค้นชาวญี่ปุ่น ต่างพากันปฏิญาณตนว่า “จะต่อต้านชาวต่างชาติ และกำจัดคนทรยศในแผ่นดิน
เดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ หยวนเริ่มแสดงเจตจำนงอย่างเปิดเผยที่จะเป็นจักรพรรดิ โดยมอบหมายให้หยางตู้ไปสร้างกระแสมวลชน หยางตู้ได้สร้างเหตุการณ์อัศจรรย์มีการพบกระดูกมังกรแล้วเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ว่า บัดนี้ประเทศต้องการจักรพรรดิ ฯลฯ เพื่อสนับสนุนให้หยวนได้ขึ้นมาเป็นจักรพรรดิอย่างชอบธรรม
หยวนซื่อไข่ประกาศให้ชาวจีนทราบข่าวว่า ในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๑๖ จะเป็นวันราชาภิเษก ระหว่างนั้นกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการเป็นจักรพรรดิของหยวนซื่อไข่เพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น
หยวนสั่งให้ต้วนฉีรุ่ยกับเฝิงกั๋วจางแม่ทัพคนสนิทยกทัพไปปราบแต่ทั้งสองไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งโดยอ้างว่าป่วย ต่อจากนั้นเหล่าแม่ทัพนายกองทั้งหลายที่หยวนเคยแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการประจำมณฑลต่าง ๆ ประกาศตัวเป็นอิสระไม่ยอมรับคำสั่งของหยวนอีกต่อไป
ทางทหารของรัฐบาลญี่ปุ่นที่หยวนเคยหวังพึ่งก็ปลีกตัวหนี สุดท้ายหยวนจำเป็นต้องกลืนกินน้ำลายตนเองที่ถ่มออกไปแล้ว โดยการขอรื้อฟื้นคณะรัฐมนตรีขึ้นมาใหม่แต่บัดนี้ไม่มีใครยอมรับการกระทำของหยวนได้อีกแล้วเมื่อต้องเผชิญกับความผิดหวังและสิ้นหวังในทุก ๆ ประการ อาการป่วยด้วยโรคโลหิตเป็นพิษก็กลับมารุมเร้าจนสิ้นใจในวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๖


หยวนซื่อไข่ ขณะเข้าพิธีไหว้ฟ้าดิน


มรดกของหยวนซื่อไข่
ดังได้กล่าวมาแล้ว เมื่อครั้งที่ผู้ว่าการมณฑลต่าง ๆ ประกาศตัวเป็นอิสระหยวนได้มอบหมายให้แม่ทัพนายกองนำกำลังทหารไปปราบ จนแม่ทัพเหล่านั้นได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการประจำมณฑลต่าง ๆ แทนคนเดิม
ตลอดระยะเวลา ๔ ปี ที่หยวนเป็นประธานาธิบดี ผู้ว่าการคนใหม่ทั้งหลายเหล่านี้โดยหน้าฉากก็แสดงบทจงรักภักดีแต่หลังฉากกลับแสดงการต่อต้าน หยวนเองก็พอจะรู้พฤติกรรมของเหล่าแม่ทัพนายกองเหล่านี้ จึงมีคำสั่งให้สลายกองกำลังทหารหรือให้ทหารปลดประจำการอยู่เรื่อย ๆ แม้กระนั้นจำนวนทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ของแต่ละมณฑลก็เพิ่มขึ้นตลอด
ผู้ว่าการทหารแต่ละมณฑลเริ่มติดต่อโดยตรงกับนายทุนเงินกู้ต่างชาติ โดยเอาทรัพยากรธรรมชาติของแต่ละมณฑลเป็นสิ่งค้ำประกัน บางมณฑลถึงกับพิมพ์ธนบัตรใช้เองโดยไม่สนใจรัฐบาลกลางเลย
ลักษณะเฉพาะในยุคที่เหล่าแม่ทัพนายกองเป็นผู้ว่าการมณฑล คือบ้านเมืองเต็มไปด้วยโจรผู้ร้าย มีเหตุการณ์ฆาตกรรมและการข่มขืนเกิดขึ้นรายวัน ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหลายเหล่านี้ทหารเป็นผู้กระทำเสียเองเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเป็นดังนี้ชาวบ้านทั่วไปต่างต้องการอาวุธปืนเพื่อใช้ป้องกันตัว เมื่อประชาชนมีปืนกฎหมายย่อมไม่ศักดิ์สิทธิ์ ความเป็นเอกภาพของประเทศค่อย ๆ หมดสิ้นไป

เมื่อหยวนซื่อไข่ตายหลี่เหยียนหงเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อ หลี่ไม่มีกำลังทหารอยู่ใต้บังคับบัญชา ทำให้ถูกจอมพลจางซุนผู้ว่าการมณฑลเหอหนานก่อรัฐประหาร
ถัดจากนั้นไม่ถึงสองสัปดาห์ จอมพลต้วนฉีรุ่ยนำทหารกองทัพเป่ยหยาง ๒๐๐,๐๐๐ นาย บุกมาโค่นอำนาจของจอมพลจางซุนที่ปักกิ่ง เมื่อโค่นได้แล้วก็แต่งตั้งเฟิงกั๋วจางเป็นประธานาธิบดีตั้งตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี
พัฒนาการของทหารในมณฑลต่าง ๆ ที่พยายามสร้างฐานอำนาจให้แก่กลุ่มของตนเองและความหายนะที่เกิดในแผ่นดินจีนตลอดระยะเวลาที่หยวนซื่อไข่กุมอำนาจ ถือเป็นมรดกที่หยวนได้มอบให้แก่แผ่นดินแม่ของตน
ประชาธิปไตยที่มีผู้นำยึดมั่นในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ประชาธิปไตยที่ไม่เคยสนใจความคิดเห็นของประชาชน
ประชาธิปไตยที่แก้ไขปัญหาโดยการใช้กำลังทหาร
ประชาธิปไตยที่ขอให้ทุกคนทำตามคำสั่งโดยปราศจากความสงสัยหรือการโต้แย้ง นี้คือหลักประชาธิปไตยในแบบที่หยวนซื่อไข่ใช้มาตลอดระยะเวลา ๔ ปี ที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีปกครองสาธารณรัฐจีน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น